Wednesday, April 20, 2011

ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน

บทความชุดนี้อาจถือได้ว่า เป็นงานประพันธ์แนวธรรมญาณ ที่เดินเรื่องในรูปแบบของการถาม-ตอบหรือปุจฉา-วิสัชนา โดยการรวบรวมคำถามจากบรรดาเพื่อนสมาชิกที่ได้ถามไถ่พูดคุยกันผ่านเข้ามาในหลายช่องทาง ทั้งทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การคุยผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การได้พบปะพูดคุยกันต่อหน้าโดยตรง โดยคำถามทั้งหลายนั้นล้วนได้ส่งตรงถึงคณาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย ซึ่งได้ให้ความกรุณาผ่านธรรมญาณเป็นคำอรรถาธิบายเข้ามาให้ทางเว็บไซท์ firenine เพื่อนำมารวบรวมเรียบเรียงนำเสนอต่อเพื่อนสมาชิกผู้อ่านโดยถ้วนหน้า ผ่านการนำเรียนในนามของ ญาณธรรม ซึ่งเป็นคำเรียกหาแบบรวมๆ ของเหล่าคณาจารย์ทั้งหลาย โดยไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงไปยังคณาจารย์ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านใดเป็นการเฉพาะ

เนื่องด้วยการเรียนรู้สัจจะธรรมความเป็นจริงทั้งหลายนั้น จะต้องเน้นที่การให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างเสริมปัญญาญาณให้ก่อเกิด จนสามารถทำความเข้าใจในธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้าน ไม่เลือกเรียนเลือกรู้เฉพาะแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การจะไขความกระจ่างให้ประจักษ์แจ้งแก่จิตของผู้เรียน จึงต้องผ่านการถามตอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องมัวเกรงอกเกรงใจกัน หรือมัวห่วงกังวลลังเล กลัวนั่นเกรงนี่ ให้เสียเวลาไป เมื่อมีความสงสัยในธรรมใด จึงต้องกล้าที่จะถามออกไปโดยไม่ครั่นคร้ามหรือห่วงว่าจะเป็นบาปกรรมหรือไปลบหลู่ผู้ใด ในฝั่งผู้ตอบก็จะต้องไขความกระจ่างตามจริง ไม่บิดเบือนอ้อมค้อม เป็นการมุ่งตรงเข้าสู่จิตของทั้งสองฝ่าย จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องของจิตสื่อถึงจิตโดยตรงนั่นเอง

ในขณะเดียวกันเมื่อผู้เรียนได้รับคำตอบไปแล้ว ก็จะต้องไม่หยุดที่จะเชื่อหรือยอมรับโดยทันทีทันใดนั้น แต่ต้องนำไปพิจารณาใคร่ครวญ โดยการพยายามที่จะหาข้อโต้แย้งมาหักล้างคำตอบเหล่านั้นอย่างเต็มที่ โดยอาศัยหลักการที่ว่า "ความจริงย่อมทนทานต่อการพิสูจน์" ดังนั้น หากคำตอบที่คณาจารย์บอกกล่าวไปเป็นสัจจะธรรมที่แท้ ก็ย่อมจะทนต่อการโต้เถียงได้โดยไม่เกิดการบิดเบือนเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความเข้าใจในธรรมอย่างถ้วนทั่วกระจ่างแจ้งอย่างแท้จริง การถามตอบจึงเป็นแนวทางจำเป็น ที่ถือได้ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจในธรรมอย่างชัดแจ้งด้วยตัวของตนเอง ขอให้จำไว้ว่า ไม่มีคำถามใดไร้สาระ ทุกคำถามจะต้องได้รับคำตอบที่เหมาะสม ไม่มีการตัดสินผิดถูกใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นแม้ว่าในช่วงต้นๆ อาจเป็นไปได้ที่คำถามอาจยังไม่มุ่งตรงไปสู่เนื้อหาแก่นสารสาระของธรรมญาณโดยตรง ทำให้คำถามที่ต้องการคำตอบส่วนใหญ่ จะเป็นไปเพื่อปลุกปลอบให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตและดำรงอยู่ในโลกใบนี้ได้ ถามหาความสุข ความร่ำรวย โชคลาภ อำนาจวาสนา บารมี รวมไปถึงการรักษาเพื่อทรงไว้ซึ่งความปรารถนาเหล่านั้น ความไม่รู้และการหลงยึดติด กับดักความสุขอันจอมปลอมในโลก กระทั่งคำถามตอบเริ่มนำไปสู่การตระหนักในความจริงที่แท้ว่า ความสุขที่แท้บนโลกใบนี้มันหาได้มีอยู่จริงไม่ มันล้วนแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุขสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปมา ความสุขจอมปลอมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว อยากยึดและหยุดความสุขนี้ไว้ที่เราตลอดไป แต่สุดท้ายกลับยึดไว้ไม่ได้แม้เพียงสักครั้งเดียว ด้วยกฏหลักของ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ก่อเกิดเป็นสภาวะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่ไม่มีใครหนีพ้น ตราบใดที่ยังต้องดำรงอาศัยอยู่ในโลกแห่งนี้ ท้ายสุดแล้วคำถามคำตอบทั้งหลายก็จะเริ่มถูกเบี่ยงเบนไปสู่แนวทางแห่งความจริงแท้มากขึ้นทุกขณะ จนกลายเป็นทางด่วนสายตรงที่มุ่งสู่ความหลุดพ้นในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ทุกคำถามคำตอบทั้งหมดที่จะนำมาเสนอไว้ในบทความชุดนี้ แท้จริงแล้วก็จะเป็นเหมือนเรื่องราวของคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งอาจหาญต่อกรกับความยึดมั่นคุ้นชินที่เคยสะสมมีมา ตลอดทั้งชีวิตจากเล็กจนเติบใหญ่ ที่ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ผ่านมรสุมชีวิตมามากมาย โดยผ่านการถ่ายทอดร้อยเรียงเป็นเรื่องราว เพื่อไว้สอนใจและตักเตือนตัวของแต่ละคนเมื่อต้องหลงทาง เข้าไปหลงใหลได้ปลื้มในวังวนกลไกของกระแสโลก จากจุดเริ่มการเดินทางที่ไร้จุดหมาย เฝ้าถามทาง เพื่อเดินไปให้ถึงฝั่ง ฝั่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ฝันแต่เป็นความจริง เป้าหมายคือการกลับบ้าน บ้านเดิมของจิตเดิมแต่ละคน ที่สมบูรณ์พร้อมประภัสสรอยู่ที่นั่น การเรียนรู้ธรรมญาณ สำหรับทุกคนจึงเปรียบดั่งเข็มทิศนำทางในการล่องเรือไป ท่ามกลางท้องทะเล ที่เต็มไปด้วยคลื่นลมยากจะหนีพ้น บ่อยครั้งที่พายุฝนจะโหมกระหน่ำ จนทำให้เรือโคลงเคลงออกนอกเส้นทาง แต่อย่างน้อยยังอุ่นใจได้ว่า ทุกคนจะยังมีเข็มทิศช่วยนำทางแล่นเรือมุ่งตรงสู่ฝั่ง เพื่อหวนคืนสู่บ้านได้อย่างแน่นอน หากแม้นเปรียบชีวิตดุจดังความฝัน ฟากฝั่งที่เรากำลังมุ่งหน้าตรงไปนั้นก็คือ ฟากฝั่งแห่งฝันที่เราจะได้ไม่ต้องฝันอีกต่อไป

บทนำนี้จึงถือได้ว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องเขียนขึ้น นอกจากจะเป็นความพยายามที่จะสื่อสารให้ท่านผู้อ่านพอจะตามทันได้ว่า ทำไมจึงใช้ชื่อชุดบทความว่า "ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน" จากที่บรรยายความมาข้างต้น ก้อเชื่อได้ว่าน่าจะพอช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ความจำเป็นอีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นการทำความเข้าใจให้ตรงกันกับเพื่อนผู้อ่านทุกท่านว่า บทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรกันแน่ และเนื่องจากเป็นเรื่องของการประจักษ์ธรรมญาณดังที่ได้เกริ่นนำไว้ข้างต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องไตร่ตรองใคร่ครวญให้รอบครอบ ก่อนจะเผยแพร่บทความออกไป จึงทำให้อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนานไปบ้าง บทนำนี้จึงถือเป็นเหมือนสาส์นนำร่องสำหรับบทความชุดนี้ เพื่อเกริ่นนำให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบความเป็นมาเป็นไปเป็นการเบื้องต้น ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาสาระที่แท้จริง ท้ายนี้ก็ต้องขอแสดงคารวะธรรมและกล่าวคำสำนึกขอบคุณท่านคณาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย สำหรับทุกคำสั่งสอน ทุกเหตุการณ์เรื่องราว ทุกคำอรรถาธิบาย ที่ทำให้พวกเราได้ค้นพบคำตอบของสัจจะที่แท้ในชีวิตของตัวเอง

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.firenine.com/zone10/blg01/main.php

Friday, March 4, 2011

Chakaren 1 วาโยไร้สภาพ

ชาคาเร็นนับเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล ประกอบไปด้วยห้ามณฑลใหญ่ และอีกสิบชนเผ่าเร่ร่อน ที่กระจายตัวกันอยู่ทางแถบตะวันตกและตอนเหนือ ราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินแห่งชาคาเร็นก่อนหน้านั้นคือ ราชวงศ์ปาโย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในชนเผ่าเร่ร่อนเดิม โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ ปาโยจา เป็นคนมุทะลุดุร้ายและต้องการแผ่ขยายอำนาจ ออกไปปกครองบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนที่เหลือด้วย จึงทำให้ต้องก่อสงครามติดพันนับสามสิบปี กระทั่งประชาราษฏร์เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แต่สงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบยุติลงโดยง่าย และเมื่อปาโยจาสิ้นพระชนม์ไป ปาโยลี ผู้บุตรก็ขึ้นเถลิงอำนาจแทนบิดาตน แต่เพราะเติบใหญ่ขึ้นมาท่ามกลางสงครามและการสู้รบ จึงทำให้ปาโยลีมุ่งมั่นที่จะสานต่อปณิธานของผู้เป็นพ่อ เพื่อปราบบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนทั้งหมดให้ราบคราบ และรวบรวมแผ่นดินทั้งหมดให้เป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริง

ทว่าบารมีของปาโยลีกลับไม่อาจเทียบเท่ากับปาโยจาผู้เป็นบิดา ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้นำมณฑลต่างๆ อีกสี่แห่ง จึงเริ่มแยกตัวออกเป็นอิสระ ทำให้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาอีกยี่สิบปี กระทั่งซีเสียนจง ผู้นำมณฑลทาเหออาทางตอนใต้ ได้ตกลงทำสัญญากับเหล่าผู้นำชนเผ่าเร่ร่อน เพื่อร่วมกันปราบปาโยลี และมณฑลใหญ่ที่เหลือทั้งหมด โดยสัญญาว่า เมื่อก่อการสำเร็จแล้ว เขาจะประกาศให้ชนเผ่าเร่ร่อนทั้งหมดเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นตรงกับผู้ใดอีก ทั้งยังให้คำปฏิญาณว่า จะไม่รุกรานชนเผ่าใดๆ อีกต่อไป และด้วยข้อตกลงนี้ กองทัพของชนเผ่าทั้งหมดจึงเข้าร่วมกับซีเสียนจง แยกย้ายโจมตีมณฑลอีกสี่แห่งจนสามารถประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ซีเสียนจงถือคุณธรรมไม่รบกวนไพร่ฟ้า จึงทำให้มีคนเข้ามาร่วมกับเขามากขึ้นทุกขณะ จนกลายเป็นกองกำลังที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรหาผู้ใดเทียบเทียมได้

หลังสงครามปราบแผ่นดินสิบปี ซีเสียนจงกับบรรดาพันธมิตร ก็สามารถบุกเข้าตีเมืองหลวงใหญ่ของราชวงศ์ปาโยได้สำเร็จ ทำให้สามารถยึดครองมณฑลสุดท้ายทางตอนกลางไว้ได้อย่างราบคาบ ปาโยลีถูกจับตัวมา เขาได้รับบาดเจ็บในการสู้รบอย่างอาจหาญ ทำให้ซีเสียนจงเกิดความเลื่อมใสในฐานะนักรบด้วยกัน จึงช่วยพูดยกโทษตายให้ ทว่าเหล่าผู้นำชนเผ่าทั้งหมดมีความเจ็บแค้น จึงลอบทำการตอนปาโยลีเป็นขันที แล้วโยนเขาเข้าไปในคุกมืดใต้ดินตลอดชีวิต สร้างความอับอายและเจ็บแค้นให้แก่ปาโยลียิ่งกว่าความตาย

นับจากสงครามห้ามณฑลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซีเสียนจงจึงได้รวบรวมแผ่นดินทั้งหมดเป็นปึกแผ่น ก่อนจะตั้งตนขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซีเสียน และด้วยการปกครองแผ่นดินด้วยความเที่ยงธรรม จึงทำให้ซีเสียนจงได้รับความรักเทิดทูนจากปวงชนทั่วแผ่นดิน ส่งผลให้บ้านเมืองมีความสุขสงบมาตลอดรัชสมัยของเขา กระทั่งสิ้นอายุขัย ซีเสียนเหยินองค์รัชทายาท จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อ เดิมทีซีเสียนเหยินผู้อยู่ภายใต้การอบรมดูแลของราชครูไท่เซิน ก็เป็นผู้ที่มีความสงบเสงี่ยมนอบน้อม และฉลาดปราดเปรื่องในวิชาการปกครองอย่างดีเยี่ยม ทำให้ต้นรัชสมัยของซีเสียนเหยิน แผ่นดินแห่งชาคาเร็นก็ยังคงสุขสงบ ประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า ไม่ต่างจากยุคสมัยที่ผ่านมา

ทว่าเหมือนชะตาฟ้าลิขิตมิอาจขัดขืน ราชวงศ์ซีเสียนจึงถึงคราต้องประสบเคราะห์กรรม เมื่อปาโยลีรัชทายาทของราชวงศ์ปาโยก่อนหน้า สามารถหลุดออกมาจากคุกใต้ดิน ด้วยความช่วยเหลือของปาโยซินบุตรชายที่ได้รับการพาหนีไป ก่อนที่เมืองหลวงของราชวงศ์ปาโยจะถูกทำลายยับเยิน หลังยี่สิบปีผ่านไป ปาโยเซินเติบโตเป็นหนุ่มสง่างาม เขากลับมาพร้อมกับเหล่าผู้ภักดีต่อราชวงศ์ปาโยเดิม เพื่อดำเนินแผนการอันลึกล้ำ ในการยึดครองแผ่นดินคืน ปาโยซินได้ลอบเข้าคุกลับใต้ดิน ปล่อยปาโยลีผู้เป็นบิดาให้เป็นอิสระ ปาโยลีจึงได้ลอบปลอมตัวเป็นขันทีเฒ่าเข้าไปอยู่ในวัง และหาทางเข้าใกล้ชิดซีเสียนเหยินจนเป็นผลสำเร็จ เขาได้ดำเนินแผนร่วมกับปาโยซินและพวก ในการสร้างเรื่องใส่ร้ายบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนทั้งสิบ จนทำให้ซีเสียนเหยินเริ่มไม่ไว้วางใจ ในที่สุดเพื่อรักษาความมั่นคงของราชวงศ์ไว้ ซีเสียนเหยินก็ยอมให้ปาโยลีดำเนินแผนกำจัดผู้นำดั้งเดิมของบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนให้หมดสิ้น เพื่อผลักดันคนของตนขึ้นเป็นผู้นำแทน

แต่ปาโยลีได้ซ้อนแผนของตนอีกชั้นหนึ่ง หลังจากกำจัดบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนทั้งหมดแล้ว เขาจึงป้ายสีว่า เป็นบัญชาลับของซีเสียนเหยินทั้งสิ้น เพื่อทำให้บรรดาชนชาวชนเผ่าเร่ร่อน มีความเคียดแค้นชิงชังต่อราชวงศ์ซีเสียน โดยจุดประสงค์ที่แท้จริงนั้น ปาโยลีต้องการใช้แผนของซีเสียนจง ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซีเสียนมาย้อนคืนต่อผู้เป็นบุตร กองกำลังของบรรดาชนเผ่าทั้งหมด จึงทยอยเข้าร่วมกับพวกของปาโยเซิน เพื่อเตรียมล้มล้างราชวงศ์ซีเสียนในคราเดียว

ทว่าในบรรดาผู้นำสิบชนเผ่านั้น เจาทังผู้นำเผ่าโทคารี เป็นสหายสนิทกับโซวมา เจ้าสำนักไร้ลักษณ์ โซวมาจึงนำคนไปช่วยเมื่อทราบข่าว แต่หาทันไม่ เจาทังและคนในครอบครัวส่วนใหญ่ล้วนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด โซวมาจึงช่วยมาได้แค่ตัวของเจามิงผู้เป็นบุตรสาว กับคนในชนเผ่าโทคารีที่เหลือ โดยโซวมาได้พาคนทั้งหมดมาอยู่ที่หมู่บ้านหลังหุบเขาที่ตั้งสำนักไร้ลักษณ์ของตน และรับเจามิงไว้เป็นศิษย์ ถ่ายทอดสุดยอดวิชาทั้งหลายให้ เจามิงเป็นคนขยันและฉลาดหลักแหลม นางจึงถือเป็นอัจฉริยะด้านการฝึกปรือวิชายุทธ โซวมารักและเอ็นดูเจามิงดั่งบุตรสาว ในขณะที่เจามิงยังเก็บความแค้นของบิดาไว้ในใจตลอดมา จนท้ายที่สุดนางก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับปาโยเซินเพื่อกำจัดซีเสียนเหยิน จนยอมทรยศสำนักอาจารย์ผู้มีคุณ

ขณะที่ซีเหมินบุตรชายของซีหยวน ผู้ได้รับการขนานนามเป็น ยอดคนผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาพยากรณ์ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนสร้างสุสานกษัตริย์ราชวงศ์ซีเสียน ก่อนตายซีหยวนได้เขียนบันทึกคำทำนายไว้ให้ ซีเหมินผู้บุตรจึงรับช่วงภาระของบิดาต่อ เพื่อธำรงราชวงศ์ซีเสียนสืบไป แต่ซีเหมินจะทำได้สำเร็จหรือไม่ แผนร้ายของปาโยลีกับปาโยซินสองพ่อลูกจะบรรลุความประสงค์มากน้อยเพียงใด และสุดท้ายเจามิงจะเลือกชำระแค้นแทนบิดาหรือกตัญญูต่ออาจารย์ผู้มีคุณ นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งชาคาเร็น มหายุทธสะท้านภพบทใหม่นี้

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.daow8.com/zone06/blg01/main.php

Saturday, February 12, 2011

แวนทีเซีย 1 ตำนานราชันย์

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในชนเผ่านักรบ เนโรแห่งนาบีย์ จึงยึดมั่นในหลักการแห่งความสัตย์ซื่อ และถือคุณธรรมน้ำมิตรยิ่งชีพ เพื่อปกป้ององค์ชายเดรนโทรน ทายาทพลังเพียงหนึ่งเดียวของราชวงศ์เซ็นโทรแห่งระบบดาวเซ็นทรานด์ เนโรและเหล่าสหายร่วมรบจึงพร้อมกันสละชีวิต เพื่อพาเดรนโทรนความหวังสุดท้ายในการสืบสานอุดมการณ์ของบรรพชน หลบหนีจากเงื้อมมือของฝ่ายศัตรูที่มุ่งร้ายให้จงได้ แต่ใครจะรู้ว่า ในที่สุดชะตากรรมก็ได้นำพาพวกเขา ให้ก้าวเข้าสู่วิถีพลังแห่งวงโคจรของดาวราชันย์ จนมีอันต้องกระเจิงกระจายกันไปคนละทิศละทาง ข้ามพ้นห้วงแห่งเวลาและอวกาศอันเวิ้งว้าง ส่งผลให้เนโรต้องเดินทางไปตามหนทางแห่งชะตาชีวิตที่รอเขาอยู่ พร้อมกับตำนานแห่งความเป็นมาอันยิ่งใหญ่สูงส่ง เกินกว่าที่เขาจะกล้าจินตนาการไปถึง

แต่ทว่าการมาถึงดินแดนแห่งแวนทีเซีย กลับมิได้ทำให้เนโรรู้สึกแปลกแยกแตกต่างแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม มันกลับคล้ายคลึงกับมิติแห่งน้ำบาบิรัน ดินแดนบ้านเกิดของเขาอย่างน่าตกใจ เนโรไม่รู้ว่า ชะตาชีวิตกำลังเล่นตลกอะไรกับเขา ในสามัญสำนึกที่ชัดเจน ยืนยันเสริมเติมด้วยพิกัดนำร่องจากยานรบขับเคลื่อนบุคคลที่นำพาเขามา เนโรแน่ใจอย่างยิ่งว่า เขาได้ข้ามพ้นห้วงอวกาศมาอย่างยาวไกล ทิ้งห่างดินแดนแห่งมาตุภูมิมาจนยากจะระบุชี้ชัดพิกัดตำแหน่งที่แน่นอนลงไปได้ ทว่าเขากลับพบว่า ตนเองคล้ายได้หวนคืนกลับมายังดินแดนบ้านเกิดของตนาอีกครั้ง ทั้งสภาวะแวดล้อมที่สอดคล้องกลมกลืน และบรรยากาศที่ยากจะปฏิเสธได้ว่า ทั้งสองดินแดนนั้นมีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจเป็นที่สุด แต่จิตสำนึกของเนโรก็ยืนยันว่า มันไม่ใช่บาบิรันบ้านเกิดของเขาอย่างแน่นอน

และไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่รอคอยเนโรอยู่ ก็ยังได้ชักนำเขาให้ต้องพลัดหลงเข้าสู่วังวนของมหาตำนานที่สืบสานกันมาแต่บรรพกาลของแวนทีเซีย เป็นความพัวพันที่เกี่ยวโยงถึงประวัติความเป็นมาของเหล่าบรรพชนชาวเผ่าสายเลือดนักรบแห่งนาบีย์ พร้อมเค้าโครงแห่งปริศนาดำมืด ซึ่งเกี่ยวโยงกับการสาบสูญของพวกเขา ที่มีอันต้องลบเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ของอาณาจักรบาบิรันอย่างฉับพลันทันใดไร้ร่องรอย มาบัดนี้คำตอบของปริศนาต่างๆ คล้ายกำลังจะได้รับการเผยตัวออกผ่านการผจญภัยของเนโร ท่ามกลางมิติแห่งน้ำแวนทีเซีย ดินแดนแห่งใหม่ที่เขาถูกวงจรแห่งชะตากรรมได้ส่งผ่านเขาให้ย่างก้าวมาถึง พร้อมบทบาทใหม่ที่เขาไม่อาจไม่ยอมรับ แม้ว่ามันจะสร้างความอึดอัดและลำบากใจต่อวิสัยนักรบพเนจรอย่างเขามากเพียงใดก็ตาม ทั้งดูเหมือนว่าเขาจะไม่อาจสลัดความโยงใยและบทบาทใหม่ๆ เหล่านี้ออกไปให้พ้นตัวได้

ไม่เพียงแค่นั้น ยังดูเหมือนว่า ยิ่งนานวันเขาจะยิ่งต้องถูกสถานการณ์รอบด้าน ดูดกลืนให้ต้องถลำลึกเข้าไปมากขึ้นทุกขณะ เมื่อเขาต้องกลายไปเป็นหมากสำคัญในแผนการใหญ่ ที่ถูกวางไว้อย่างแยบยลและเร้นลับ เพื่อเปิดเผยขุมอำนาจที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมอันมืดมิดของประวัติกาลแห่งแวนทีเซีย และเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งเภทภัยและความวุ่นวายทั้งหลาย ตลอดห้วงเวลาแห่งอดีตกาลที่ผ่านมาของแวนทีเซีย ซึ่งคล้ายจะยากปฏิเสธถึงความพัวพันที่แนบแน่นกับปริศนาการสาบสูญของชาวนาบีย์ อดีตชนเผ่านักรบที่สูงส่งด้วยพลังอำนาจ จนเป็นสาเหตุทำให้มหาอาณาจักรบาบินรันที่เคยรุ่งเรืองด้วยแสนยานุภาพต้องมีอันล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชนรุ่นหลังของเผ่านาบีย์ที่หลงเหลืออยู่อย่างเนโร กลายเป็นเพียงนักรบพเนจรที่ต้องระหกระเหินเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย ดำรงชีวิตเหมือนนักรบรับจ้างที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไปวันๆ ไม่มีแม้แต่ความหวังและแรงบันดาลใจใดๆ สิ่งเดียวที่ทำให้เนโรสามารถดำรงชีวิตด้วยความรู้สึกที่มีค่าตลอดมา ก็คือการได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ร่วมกับเหล่าสหายของเขาที่เซ็นทรานด์ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความมุ่งมั่นที่จะหาทางหวนคืนกลับไปยังระบบดาวมาตุภูมิของตนนั้น เป็นพลังใจอันยิ่งที่ทำให้เขามุ่งมั่นจะมีชีวิตรอดภายในแวนทีเซีย โดยที่เขาไม่เคยคาดคิดว่า มันจะกลายเป็นพลังอำนาจสำคัญที่ผลักดันเขาให้กลายเป็นส่วนสำคัญของตำนานยุคใหม่ของแวนทีเซียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ทั้งหลายทั้งปวงที่บรรยายมานี้ ล้วนเป็นเรื่องราวของเนโร นักรบพเนจรแห่งชนเผ่านาบีย์จากบาบิรัน กับชีวิตใหม่ของเขาในดินแดนมหัศจรรย์ของแวนทีเซีย ทั้งความรัก ความผูกพัน และการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด รวมไปถึงอุดมการณ์อันหนักแน่นและมั่นคง ที่จะหาทางปลดแอกผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย เพื่อปลดปล่อยพวกเขาให้หวนคืนสู่อิสระภาพ ตำนานการต่อสู้บทใหม่ของเนโรในนวนิยายแฟนตาซีชุดแวนทีเซียนี้ จึงอาจถือได้ว่า เป็นภาคเสริมของวรรณกรรมเรื่องยาวชุด ตำนานอนันตกาล (Infinite Tale) ซึ่งเนโรและเหล่าสหายได้มีบทบาทโลดแล่นอยู่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาตำนานอันยิ่งใหญ่ชุดนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดเกาะเกี่ยวยึดโยงต่อเนื่องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งชุดวรรณกรรม ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ควรที่จะนำเรื่องราวของเนโรในแวนทีเซีย มารวบรวมเอาไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตกเนื้อหาตอนใดตอนหนึ่ง จนทำให้เสียอรรถรสของการติดตามเรื่องราวทั้งหมดในวรรรณกรรมชุดนี้ ซึ่งผู้เขียนหวังไว้ว่า จะช่วยตอบโจทย์และสนองความต้องการของท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านได้อย่างลงตัว

สำหรับตอนแรกของภาคนี้คือ ตำนานราชันย์ (Legend of the King) นั้น ถือได้ว่าเป็นตอนแรกของนวนิยายชุดแวนทีเซีย ซึ่งประเดิมเริ่มต้นนับแต่การเดินทางมาถึงของเนโร ด้วยวงจรพลังของดาวราชันย์ จนทำให้เขาสามารถเข้ามาถึงมิติแห่งน้ำแวนทีเซีย พร้อมความบังเอิญในการเข้าไปมีส่วนกระตุ้นให้ตำนานอันเร้นลับแต่บรรพกาลเกิดฟื้นคืนชีพขึ้น จนกลายเป็นความหวังของปวงชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ภายใต้อำนาจมืดของจอมเวทย์วายเดน กระทั่งทำให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ เชื่อมประสานกับแผนการเคลื่อนไหวอันแยบยลและแหลมคมของชาวเทลรอนด์ ซึ่งซ่องสุมรอคอยอยู่ และแล้วตำนานแห่งการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์แวนทีเซียจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ขอเชิญทุกท่านมาร่วมติดตามเรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกันกับผู้เขียน เพื่อร่วมเอาใจช่วยให้เนโรและเหล่าสหายใหม่ของพวกเขา ในการปลดปล่อยมหาชนจากการครอบงำของอำนาจที่ชั่วร้าย

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.daow8.com/zone05/blg04/chp00.php

Friday, January 21, 2011

โพธิมณฑล

โพธิมณฑล เป็นเรื่องราวการเสวนาธรรมแนว hardcore แบบเข้มข้นจริงจัง ไม่มีการยินยอมอ่อนข้อให้ จนกว่าจะสามารถสรุปข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างโจ่งแจ้งกระจ่างชัดเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินเรื่องแนวนวนิยาย ผ่านลีลาการปะทะคารมของเกลอเฒ่าทั้งสาม ลุงอนันต์ ลุงวิฑูร และลุงสิทธิ์ ผู้มีหน้าที่คิดค้นหาประเด็นคำถามมาโต้เถียงกับสหายเก่าแก่ทั้งสอง ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันโพธิยามาด้วยกัน ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมรับอะไรโดยง่ายๆ ทั้งไม่ยอมก้มหัวให้แก่ผู้ใดของลุงสิทธิ์จึงทำให้เนื้อหาสาระของนวนิยายอิงธรรมปรัชญาชุดนี้ เต็มไปด้วยอรรถรสที่เข้มข้น บรรจุด้วยเนื้อหาสาระและแก่นธรรมอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากความอ้อมค้อม ทั้งยังแฝงอารมณ์ขันของผู้เฒ่าทั้งสาม ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะให้ความรู้ความบันเทิงต่อท่านผู้อ่านได้ไม่น้อยทีเดียว

เรื่องราวทั้งหมดได้อาศัยสภาพแวดล้อมเสมือนของรีสอร์ทใหญ่ หนึ่งในธุรกิจในเครือของสถาบันโพธิยา ที่ตั้งอยู่กลางป่าเขา รายล้อมด้วยทัศนียภาพที่งดงาม มีความกลมกลืนสอดคล้องไปกับสภาวะของธรรมชาติอันบริสุทธิ์อย่างลงตัว นอกจากจะมีธุรกิจรีสอร์ทใหญ่ที่เปิดให้คนเข้ามาเช่าพัก เพื่อผ่อนคลายจิตอารมณ์ ปลีกตัวหลีกเร้นจากความแออัดวุ่นวายภายในตัวเมืองใหญ่ทั้งหลาย สถาบันโพธิยายังครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิเช่น เป็นสถานที่พักระยะยาวสำหรับผู้ที่เกษียณอายุจากภาระหน้าที่การงานทั้งหลาย หรือที่รู้จักกันในนามของ Long stay ทำให้สถาบันโพธิยาจำต้องมีสถานพยาบาลเป็นของตนเอง เพื่อให้ความดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพของเหล่าผู้อาวุโสทั้งหลายที่มาใช้บริการอย่างใกล้ชิด และเป็นกันเอง นอกจากนั้นยังมีสปา หรือการให้บริการด้านธรรมชาติบำบัด มีสโมสรส่วนบุคคล ที่ครบถ้วนทั้งสระว่ายน้ำ ห้องล้อบบี้ ห้องสมุด ห้องออกกำลังกายหรือโรงยิม รวมไปถึงหอประชุม สถานบันเทิง และห้างสรรพสินค้า

ด้วยความที่เป็นสถาบันใหญ่ จึงทำให้โพธิยามีเครือข่ายธุรกิจในกลุ่ม แยกย่อยออกไปอีกหลายแขนง รวมถึงบริการสาธารณะที่เน้นให้ความรู้ความเข้าใจแนวธรรมญาณ ที่เน้นการปลูกฝังแนวความคิดแบบสัจจะเสรีนิยม ทำให้ภายในที่ตั้งของสถาบันโพธิยา มีสถานที่สำคัญอีกแห่งที่รู้จักกันในนามของ สัจจาลัย หรือสถานที่พำนักอยู่ของสัจจะ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่ได้รับการออกแบบทั้งในเชิงศิลป์และสถาปัตยกรรมที่สวยงามตระการตา แลดูแตกต่างไปจากที่อื่นๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่นสงบเย็น มีทะเลสาบและทางน้ำใหญ่น้อยที่เรียงรายอยู่ภายในพื้นที่กว้างท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขาที่สุดแสนจะบริสุทธิ์ จนอาจกล่าวได้ว่าสัจจาลัยแห่งนี้ เป็นเหมือนศูนย์กลางของสถาบัน ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปเยี่ยมชมศิลปะความงามของตัวอาคาร และปฏิมากรรมชิ้นเยี่ยมจำนวนมากที่ประดิษฐานไว้ภายในสถานบำเพ็ญธรรมแห่งนี้

แนวทางเผยแผ่ธรรมของสัจจาลัย จะเน้นไปที่การถ่ายทอดสัจจะธรรมความจริง ที่เรียกกันภายในสถาบันว่า ธรรมญาณ โดยธรรมคือความจริง และญาณคือความรู้ รวมความแล้วคำว่าธรรมญาณก็มิได้มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากสัจจะธรรมอื่นๆ แต่เป็นการเน้นจี้ตรงไปที่ความพยายามในการทำความเข้าใจต่อทุกความจริงที่ประจักษ์แจ้งต่อหน้า หลายคนจึงมองดูว่า สัจจาลัยเน้นเผยแผ่ธรรมคล้ายแนวของสำนักฉับพลัน แบบพุทธศาสนานิกายเซ็น โดยไม่ให้ความสำคัญหรือทุ่มความสนใจลงไปในเรื่องของกฏเกณฑ์หรือข้อบังคับจิปาถะทั้งหลาย ไม่แม้แต่จะหาข้ออ้างอิงจากคัมภีร์ใดๆ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปยังความจริงที่ปรากฏต่อหน้าของผู้เรียนแต่ละท่าน ในตัวอาคารสัจจาลัยเองจึงไม่ใช่สถานที่บำเพ็ญพิธีกรรมใดๆ ภายในเน้นเพียงความสงบสันติร่มรื่น เพื่อช่วยให้วิญญาณของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้รับการผ่อนคลายและสงบลงจากความว้าวุ่นที่ภายนอก

เพราะหลักธรรมปรัชญาของสัจจาลัยนั้น จะเน้นไปที่ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ความคิดคำนึง และความรู้เหล่านี้จะปรากฏขึ้นได้ก้อต่อเมื่อวิญญาณได้สงบระงับจากความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย ภายในสัจจาลัยจึงมีเพียงศิลปะที่สวยงาม เสียงดนตรีบรรเลงในท่วงทำนองเยือกเย็น แว่ววังเวงแผ่วเบา เคลียคลอไปกับสรรพสำเนียงแห่งธรรมชาติที่อยู่รอบอาณาบริเวณ สัจจาลัยจึงมิใช่สำนักปฏิบัติธรรม หากแต่เป็นเพียงสถานที่สำหรับการพักผ่อนของวิญญาณ เน้นบรรยากาศที่เอื้อต่อการตื่นขึ้นแห่งปัญญาญาณทั้งหลาย เป็นปัญญาความรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถก้าวพ้นไปจากมายาภาพที่หลอนหลอกอยู่ในชีวิต และได้ตระหนักรู้ในธรรมชาติแห่งจิตเดิมของตนอย่างชัดเจน

สำหรับนามที่ใช้เรียกชื่อสถาบันโพธิยาแห่งนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่า จะขาดต้นโพธิไปไม่ได้ ในอาณาบริเวณใกล้ที่ตั้งของอาคารสัจจาลัยนี้ จึงมีต้นโพธิใหญ่ที่งามสง่าแผ่ร่มเงาปกคลุมอยู่เป็นพื้นที่กว้าง สร้างความร่มเย็นแก่ผู้ที่มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม พร้อมทั้งเป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์ใหญ่น้อยนานาชนิด โดยเฉพาะพวกนกและกระรอก รอบพื้นที่ของสถาบัน ก็ได้รับการจัดแต่งอย่างดี ด้วยหลักวิชาของภูมิพยากรณ์ชั้นสูง ประดับประดาด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และพืชพรรณนานาชนิด มีธารน้ำตก ทางน้ำและแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบ ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นต่อทุกความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของสถาบัน โดยภาพรวมทั้งหมดที่บรรยายมานี้ จึงทำให้เรื่องราวที่ผู้เขียนได้นำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นเรื่องราวของนวนิยายชุดนี้ มีความเหมาะสมที่จะใช้ชื่อว่า โพธิมณฑล

นับจากที่ตั้งของสถาบันซึ่งเป็นทั้งจุดกำเนิดของเรื่องราว และการดำเนินเรื่องทั้งหมด บวกรวมกับแนวเนื้อเรื่องที่อิงหลักธรรมปรัชญาแห่งการรู้แจ้ง ซึ่งมีศรีมหาโพธิแห่งพระพุทธะ เป็นสัญญลักษณ์ ผู้เขียนจึงมองไม่เห็นว่าจะมีชื่อใดเหมาะสมไปกว่านี้ และแม้ว่าสถาบันโพธิยาและสัจจาลัย จะเป็นเพียงสถานที่ในจินตนาการของผู้เขียนเท่านั้น แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า มันจะเป็นเสมือนพื้นที่จริงสำหรับทุกดวงวิญญาณที่จะได้อาศัยเข้ามาพักผ่อน หลีกเร้นจากความวุ่นวายในชีวิตที่ทุกคนต้องประสบอยู่ แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะที่ท่านผู้อ่านได้ดื่มด่ำกับอรรถรสในเนื้อหาของหนังสือนวนิยายอิงหลักธรรมเล่มนี้ ก็ยังดี และหวังว่า ธรรมญาณทั้งหลายที่จะปรากฏขึ้นในหนังสือเล่มนี้ จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อจิตวิญญาณของทุกๆ ท่าน เพื่อชี้แนวหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์แห่งโลกียะนี้ไปได้โดยเร็วพลัน

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.daow8.com/zone01/blg07/main.php

Monday, January 10, 2011

Zerloss chain 1 : สงครามอัฐราศี

หลังจากที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งจากดาวเคราะห์โลก ได้ดั้นด้นเดินทางมาบุกเบิกอาณานิคมแห่งใหม่ที่ระบบสุริยะโทรัลแห่งนี้ พวกเขาลงหลักปักฐานที่ดาวเมย์ทรานเป็นแห่งแรก เพราะเป็นดาวที่มีระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมใกล้เคียงโลกมนุษย์ที่ทุกคนจากมามากที่สุด หลังจากหนึ่งร้อยปีผ่านไป ด้วยเทคโนโลยีระดับดาวเคราะห์ มนุษย์กลุ่มนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของดาวเมย์ทรานให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของพวกตนอย่างสมบูรณ์

ชาวเมย์ทรานได้แผ่ขยายเผ่าพันธ์ของตนออกไปอย่างรวดเร็ว เพียงช่วงห้าร้อยปีแรก พวกเขาก็สามารถปรับเปลี่ยนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแห่งนั้นอีกหลายดวง จนมีสภาพที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย รวมทั้งบรรดาดวงจันทร์อีกนับร้อย ที่เป็นบริวารของดาวแก๊สยักษ์จำนวนสี่ดวงในระบบโทรัลนั้นด้วย หลังเวลาหนึ่งพันปี กลุ่มผู้บุกเบิกก็สามารถยึดครองระบบสุริยะทั้งหมดไว้ในครอบครอง มีการทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรและดวงดาวกันอยู่หลายครั้ง ระหว่างกลุ่มดาวที่ถูกกดขี่และยากจนกับชนชั้นปกครองที่มั่งคั่ง เมื่อแรงกดดันถึงจุดหนึ่ง พวกนั้นก็รวมตัวกันขึ้นเป็นกองกำลังจากกลุ่มย่อยเป็นกลุ่มใหญ่ และเข้าทำสงครามกับกองทัพของรัฐบาลแห่งดาวศูนย์กลางเมย์ทราน สงครามที่รุนแรงและหฤโหดครั้งสุดท้าย เพิ่งสิ้นสุดไปได้ไม่ถึงห้าสิบปีที่ผ่านมา โดยรู้จักกันในนามยุทธการดาวแซนโทร ซึ่งเป็นดาวแก๊สขนาดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะโทรัล

สงครามยุติลงด้วยความบอบช้ำทั้งสองฝ่าย ไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะ สุดท้ายจึงต้องจบลงด้วยการลงปฏิญญาร่วมกันโดยตั้งเป็นสภาปกครองกลางที่มีสมาชิกจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมบริหาร และมีการออกบทบัญญัติกฏหมายและระเบียบวิธี ในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน ด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง หลังจากนั้นมาชาวโทรัลก็เข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพมาโดยตลอด กระทั่งมีการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีการขนส่งที่ล้ำสมัยถูกคิดค้นขึ้น มันทำให้ระบบขนส่งมวลสารแบบเดิมกลายเป็นวิทยาการที่ล้าหลังและตกยุคไปทันที ด้วยระดับของความรวดเร็วในการส่งผ่านมวลสารปริมาณมากในระยะทางอันไกลโพ้น ซึ่งได้ช่วยจุดประกายความหวังของชาวโทรัลทุกคนที่คิดถึงบ้านที่ตนจากมา มันทำให้พวกเขาเริ่มมองเห็นหนทางที่จะไปมาหาสู่กับญาติมิตรของตนที่ดาวโลกได้สะดวกขึ้น รัฐบาลกลางจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกลุ่มเครือข่ายแมสเทล ที่เป็นบรรษัทใหญ่ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนระบบใหม่นี้ โดยตั้งเป้าไว้ว่า หากประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้การเดินทางกลับไปยังดาวโลกมีความรวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากระโจนข้ามอวกาศชั้นสูงเป็นระยะๆ เหมือนที่ผ่านมา และยังสามารถลดเวลาลงจากแรมเดือนเป็นเพียงไม่กี่นาที

ทว่าในท่ามกลางความยินดีของผู้คนกับข่าวดีดังกล่าว พลันปรากฏนักฟิสิกส์มิติอวกาศท่านหนึ่งนาม ศาสตราจารย์ฌอน เซอร์ลอส ได้ออกมาคัดค้านด้วยทฤษฎีเซอร์ลอสเชนของเขา ซึ่งมีผลการคำนวณยืนยันว่า มิติอวกาศชั้นสูงที่ยอมให้มนุษย์ใช้ได้นั้นมีจำนวนจำกัด และหากข้ามพ้นเขตอวกาศวิกฤตตามทฤษฎีไปแล้ว ก็เสี่ยงที่จะเข้าไปแทรกแซงกับมิติภาวะของชีวพลังงานระดับสูงอื่นๆ ซึ่งรู้จักกันมานานในตำนานแห่งปีศาจและทวยเทพ ศ.ฌอน จึงเตือนให้รัฐบาลทำการทบทวนการอนุมัติให้กลุ่มแมสเทลดำเนินการต่อ เพราะจากการประเมินของนักฟิสิกส์หลายกลุ่มเชื่อว่า มิติภาวะที่กลุ่มแมสเทลจะใช้ในการเดินทางข้ามไปนั้น ได้เลยแถบมิติวิกฤตตามทฤษฎีไปแล้ว จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายที่เข้าข้างกลุ่มแมสเทล ก็เชื่อว่าเรื่องของปีศาจและทวยเทพนั้นล้วนเป็นเพียงตำนานไร้สาระ ไม่มีจริง การข้ามไปสู่มิติภาวะชั้นสูงนั้นแม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของเสถียรภาพของพลังงานอยู่บ้าง แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ โดยกลุ่มนี้ได้เสนอให้มีการทดลองใช้เป็นเวลาหนึ่งปี ในการขนส่งสิ่งของที่ไม่ใช่ผู้คน เพื่อทำการปรับเปลี่ยนค่าตัวแปรของคลื่นพลังงานให้เหมาะสม สุดท้ายรัฐบาลกลางก็ยอมตาม โดยการอนุมัติของสภาผู้ปกครองร่วม

ผลการทดสอบปรากฏว่า ไม่มีผลกระทบร้ายแรงใดๆ ดังที่ทฤษฎีของศ.ฌอนทำนายไว้ ในที่สุดจึงมีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ จากนั้นมาศ.ฌอนจึงเริ่มเก็บตัวเงียบ เพื่อเตรียมแผนตอบรับ เขาลาออกจากสถาบันการศึกษาที่สอนอยู่ และกลับไปอยู่ที่บ้านในดวงจันทร์บริวารของดาวเมย์ทราน เพื่อเริ่มต้นการศึกษาอย่างจริงจังในการเชื่อมโยงสื่อสารกับชีวพลังงานที่อยู่ในมิติที่ลึกเข้าไป จนสามารถรับถ่ายทอดวิทยาการในการปลูกถ่ายพันธุกรรมพิเศษเข้าสู่สายพันธ์ของมนุษย์ เพื่อเตรียมสร้างกองกำลังไว้รับมือกับวิกฤตการณ์ที่กำลังจะตามมา โดยศ.ฌอนได้ลอบทดลองกับคนจรจัดจำนวนหนึ่ง ที่ยอมแลกกับอาหาร การทดลองในช่วงต้นนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ และได้ทำให้ผู้ทดลองเสียชีวิตและพิกลพิการไปเป็นจำนวนมาก กลุ่มแมสเทลจึงใช้โอกาสนี้จัดการกับศ.ฌอน ในคืนก่อนที่เขาจะถูกบุกจับกุมตัวนั้น เขาได้ค้นพบสูตรสำเร็จใหม่ จึงตัดสินใจทำการปลูกถ่ายให้บุตรชายหญิงทั้งสองของตน และส่งให้ไปอยู่ในความดูแลของเพื่อนสนิทที่เป็นคนของรัฐบาล ส่วนตัวเขาเองถูกจับตัวในฐานะอาชญากรร้ายแรง และถูกตัดสินให้เนรเทศไปอยู่ที่ดาวร้างเนฟคอนส์

การใช้งานระบบขนส่งแบบใหม่ที่รวดเร็วทันใจ ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นเป็นเวลาร่วมสิบปี ทำให้ผู้คนล้วนลืมเลือนคำทำนายในทฤษฎีเซอร์ลอสเชนไปจนหมดสิ้น พอๆ กับข่าวคราวของศ.ฌอน ที่ถูกเนรเทศไปยังเขตกักกันอาชญากรสำคัญที่เนฟคอนส์ ก็คล้ายจะเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ศ.ฌอนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ขณะที่ชาวโทรัลก็พากันใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า มหาวิบัติภัยอันยิ่งใหญ่กำลังจะมาถึง เมื่อห่วงโซ่ทั้งหมดใกล้จะเคลื่อนเข้ามาเชื่อมโยงถึงกัน อีกทั้งโครงการที่จะทำการนำระบบขนส่งนี้เดินทางกลับไปติดตั้งที่ระบบสุริยะของดาวโลกในรูปแบบของสตาร์เกท ก็ใกล้จะเป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ อะไรจะเกิดขึ้นนับตั้งแต่นี้ไป หรือมันจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมหาวิบัตภัยล้างจักรวาลครั้งใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.daow8.com/zone07/blg02/main.php