Saturday, November 13, 2010

สัจจะธรรมเสวนา

บทความในส่วนนี้จะเป็นการรวบรวมคำถามที่ได้จากท่านสมาชิก ผู้มีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวทางปรัชญา ทั้งแบบธรรมดาทั่วไป หรือที่เป็นอภิปรัชญาชั้นสูง ซึ่งอยู่เหนือไปจากสามัญสำนึกปกติ โดยจะรวมความไปถึงข้อสงสัยทางธรรม ทั้งในส่วนของหลักทฤษฎีที่เป็นธรรมปรัชญาพื้นฐานไปจนถึงปรมัติธรรมชั้นสูง และหลักปฏิบัติที่จะใช้เป็นแนวทางในการบำเพ็ญธรรม เพื่อฝึกฝนจิตวิญญาณของแต่ละคนให้เข้าถึงความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย โดยความพยายามทั้งหมดนี้ก็เพียงต้องการขยายมุมมองของท่านผู้อ่านให้กว้างไกลออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มิได้ต้องการพิสูจน์ความผิดถูกจริงเท็จ ที่จะบานปลายกลายเป็นข้อพิพาทถกเถียงกับผู้ใดทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และน้อมรับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รู้ทุกท่าน

ดังคำกล่าวที่ว่า อนันตธรรมนั้นกว้างไพศาล ไม่มีที่มาที่ไป จับตรงไหนก็เป็นธรรม ดังนั้นทุกข้อสงสัยและคำอธิบายล้วนสามารถสัมผัสถึงธรรมได้ทั้งสิ้น เนื้อแท้ของธรรมจึงบริสุทธิ์ปราศจากความถูกหรือความผิด ในขณะที่โลกียธรรมนั้นแปรปรวนวุ่นวายไม่จบสิ้น ธรรมทั้งหลายในที่นี้จึงล้วนประกอบขึ้นด้วยเหตุปัจจัย เมื่อเหตุแปรเปลี่ยนผลจึงย่อมเปลี่ยนตามเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ธรรมในโลกียะจึงแปรปรวนไม่หยุดนิ่ง แม้จับต้องได้ก็เพียงสภาวะชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจคงที่ถาวรตลอดไป ธรรมหนึ่งที่เคยเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้อง เมื่อกาลเวลาผ่านไปอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ กระทั่งอาจถูกตัดสินว่าผิดก็เป็นไปได้ นี่เรียกว่า เป็นไปตามเหตุปัจจัย และการสมมติของผู้ที่ตระหนักรู้ในธรรมเหล่านั้น

ในขณะที่โลกุตรธรรมนั้นคงที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน ผู้ที่เข้าถึงโลกุตรธรรมจึงมีแต่จะไหลเลื่อนไปตามกระแสสู่ความหลุดพ้นจากโลกียะวิสัยทั้งหลายเป็นธรรมดา เป็นการไปอย่างไม่อาจย้อนคืนได้ นี่เรียกว่า เป็นแล้วไม่ย้อนกลับ โลกุตรธรรมจึงคงที่ควบคุมได้ ตรงข้ามกับโลกียธรรมที่ไม่คงที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็มิได้มีความแตกต่างใดๆ ต่อกัน ระหว่างโลกุตระและโลกียะ เพราะล้วนเป็นธรรมดุจเดียวกัน แม้หนึ่งจะเป็นปรมัติสัจจ์ คือความจริงแท้ขั้นสูงสุด และอีกหนึ่งจะเป็นเพียงสมมติสัจจ์ คือความจริงที่ถูกสมมติบัญญัติขึ้นเท่านั้นก็ตาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา ผู้เขียนจึงไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญในการโต้เถียงกับผู้ใด เมื่อธรรมทั้งหลายเป็นไปตามผู้ตระหนักรู้ในธรรมนั้น จึงมีความหมายแปรตามมโนคติและความคิดของแต่ละคน ผู้มีความเข้าใจในมิติที่แตกต่างไปของธรรมเดียวกัน ก็อาจมองเห็นความหมายแห่งธรรมนั้นไม่ตรงกันเป็นธรรมดา ดังนั้นคำตอบหรือคำอรรถาธิบายใดๆ ที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้ จึงเป็นเพียงการเสนอมุมมองความคิดในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งหากบังเอิญไปตรงกับความเข้าใจของท่านผู้อ่าน ก็ถือเสียว่าเป็นการย้ำเน้นความเข้าใจให้แนบแน่นเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่หากปรากฏในแง่มุมที่ตรงกันข้าม ก็ขอให้ถือเสียว่า เป็นการเสนอแนะให้ลองพิจารณาธรรมนั้นในทัศนะที่เพิ่มเติมออกไป มิใช่เป็นการขัดแย้งต่อความเข้าใจเดิมของท่านแต่ประการใด

ในขณะเดียวกัน ท่านผู้รู้ใด ที่ประสงค์จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียน ก็สามารถชี้แนะมาได้ ในฐานะผู้ประจักษ์ในธรรมที่ปรากฏต่อหน้า ผู้เขียนจึงยินดีจะน้อมรับทุกความคิดเห็นโดยปราศจากคติและอคติ เพราะการประจักษ์ในธรรมทั้งหลายนั้น ต้องเปิดใจออกรับรู้โดยปราศจากทิฐิความเห็นใดๆ จึงจะสามารถเข้าถึงความหมายแห่งธรรมนั้นอย่างแท้จริง และเพื่อให้การแลกเปลี่ยนนั้นเกิดความเข้าใจตรงกันทั้งสองทาง ผู้เขียนจึงขออนุญาติล่วงหน้า ในการนำความคิดเห็นของท่านมานำเสนอตามสมควร เพื่อให้เป็นบทขยายต่อความรู้ความเข้าใจของท่านสมาชิกอื่นๆ โดยอาจมีการเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเข้าไปบ้าง ขอท่านอย่าได้ถือสาว่าเป็นการเห็นแย้งหรือข้อโต้เถียงแต่ประการใด หากความคิดเห็นนั้นเกิดไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านเสนอมา

สำหรับท่านผู้อ่านทั้งหลาย ก็ขอได้ทำความเข้าใจตรงกันว่า สิ่งใดที่ผู้เขียนนำมาเสนอในที่นี้ ก็ล้วนเป็นเพียงข้อมูลเพิ่มเติมในแง่มุมต่างๆ มิใช่สิ่งที่ควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ขอให้รับรู้และใช้วิจารณญาณของท่านอย่างเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นวิธีการเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย มิได้จำกัดเฉพาะคำตอบที่ผู้เขียนบรรยายไว้ การด่วนตัดสินว่าถูกผิด หรือจริงเท็จ ล้วนเป็นขบวนการที่โน้มเอียงไปสู่การปรุงแต่งของความคิดแบบโลกียะ เพราะแท้จริงแล้วธรรมทั้งหลายล้วนมีแต่ความจริง ไม่ว่าจะเป็นความจริงที่แท้ หรือความจริงที่สมมติขึ้นก็ตาม การประจักษ์รู้ด้วยใจที่เป็นกลางไร้การตัดสินใดๆ จะทำให้ท่านก้าวพ้นจากคติและอคติ ไม่มองเฉพาะในแง่ดี หรือร้ายเพียงสถานเดียว และเมื่อนั้นท่านย่อมเห็นความจริงแท้ในธรรมนั้นด้วยตัวของท่านเอง

ท้ายสุดนี้ก็จะขอใช้เนื้อที่อีกเล็กน้อยในการพูดถึง วิธีการเข้าถึงเนื้อหาของบทความที่ท่านต้องการ โดยผู้เขียนจะทำการเรียบเรียงและจัดกลุ่มคำถามทั้งหลายให้เป็นหมวดหมู่อยู่ในบทความเดียวกัน เพราะบางครั้งจะได้รับคำถามที่ใกล้เคียงกันและเคยตอบไปแล้ว แต่อาจมีบางแง่มุมที่สมควรจะขยายความเพิ่มเติม โดยผู้เขียนจะนำไปตอบไว้ในบทความเดียวกันนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านที่ส่งคำถามเข้ามา เลือกเอาว่า คำถามของตนใกล้เคียงกับบทความใด ก็ให้เลือกเข้าไปดูในบทความนั้น และมองหาหัวข้อคำถามที่ตรงกับความสงสัยของตน โดยวิธีนี้ท่านผู้อ่านจะสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมในคำถามใกล้เคียงอื่นๆ ที่อาจช่วยให้ท่านได้คำตอบที่ชัดเจนและสามารถคลี่คลายข้อสงสัยในใจจนหมดสิ้น หรือท่านจะลองเลือกเข้าไปอ่านในบทความของคำถามอื่นๆ ก็ไม่เป็นการผิดกติกาแต่อย่างไร ท้ายสุดนี้ผู้เขียนก็จะขอฝากสิ่งที่เป็นคติประจำใจของนักเขียนประจำชมรมดาวแปดทุกคนไว้ว่า การจะทำลายความสงสัยได้อย่างสิ้นเชิง ก็คือการตอบข้อสงสัยเหล่านั้นจนหมดสิ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทางชมรมของเราจึงมีข้อปฏิบัติกันจนเป็นปกติประการหนึ่งคือ ไม่หยุดที่จะตอบ จึงไม่ห้ามที่จะถาม

ติดตามอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ http://www.daow8.com/zone01/blg05/main.php

No comments:

Post a Comment